โพรไบโอติกส์ (probiotics) คืออะไร สามารถช่วยร่างกายได้อย่างไรบ้าง

808 จำนวนผู้เข้าชม  | 

โพรไบโอติกส์

Probiotics จุลินทรีย์มากประโยชน์ที่พบในอาหารหลากหลายชนิด แต่ Probiotics จะมีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างไร ประกอบไปด้วยจุลินทรีย์ชนิดใดบ้าง ควรจะรับประทานตอนไหนจึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด สามารถทำความรู้จักกับ Probiotics ไปพร้อม ๆ กันได้ในบทความนี้

โพรไบโอติกส์ (probiotics) คืออะไร


โพรไบโอติกส์ (probiotics) คือ จุลินทรีย์มีชีวิตที่จะเป็นประโยชน์ต่อร่างกายหากได้รับในปริมาณที่เหมาะสม ซึ่งร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้ แต่สามารถพบ probiotics ได้ในอาหารหลายประเภท จึงสามารถเพิ่มปริมาณ probiotics เข้าสู่ร่างกายได้ไม่ยาก โดย probiotics จะประกอบไปด้วยจุลินทรีย์หลากชนิดที่มีคุณสมบัติต่างกันไปอาศัยอยู่ในระบบทางเดินอาหาร หรือที่เรียกกันว่า gut microbiome แต่ทั้งหมดล้วนมีส่วนช่วยให้ร่างกายแข็งแรงได้

หลาย ๆ คนอาจสับสนว่า probiotics และ prebiotics แตกต่างกันอย่างไร สามารถอธิบายอย่างง่ายได้ว่า prebiotics ก็คืออาหารของ probiotics นั่นเอง




Probiotics ช่วยอะไร มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างไร


Probiotics มีประโยชน์ต่อร่างกายหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการปรับสมดุลลำไส้ ที่จะช่วยให้ระบบทางเดินอาหารทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ, กระตุ้นการทำงานของระบบย่อยอาหารให้ทำงานได้อย่างเป็นปกติ, ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแปลกปลอมในร่างกายและปกป้องผนังลำไส้ไม่ให้เชื้อโรคมาเกาะได้ง่าย, ช่วยลดภาระการทำงานของระบบทางเดินอาหารโดยการช่วยย่อยและดูดซึมสารอาหารที่จำเป็นเข้าสู่ร่างกาย  ตลอดจนช่วยกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย

ด้วยประโยชน์ของ Probiotics ดังที่กล่าวไป ทำให้ Probiotics สามารถช่วยลดโอกาสการเกิดโรคทางเดินอาหาร โรคเกี่ยวกับผิวหนัง โรคที่อาจเกิดขึ้นบริเวณช่องคลอด และอาการต่าง ๆ ได้ เช่นโรคผื่นแพ้ผิวหนัง, โรคท้องร่วงจากการติดเชื้อในเด็ก, โรคท้องร่วงจากยาปฏิชีวนะ, โรคมะเร็งลำไส้, โรคลำไส้อักเสบ, อาการลำไส้แปรปรวน, อาการไขมันในเลือดสูง, โรคอ้วน และ โรคเชื้อราในช่องคลอด เป็นต้น โดยจุลินทรีย์ Probiotics แต่ละชนิดให้ผลช่วยลดโอกาสการเกิดโรคที่แตกต่างกันออกไป

 

Probiotics ประกอบไปด้วยจุลินทรีย์ชนิดใดบ้าง


Probiotics ประกอบไปด้วยจุลินทรีย์หลายชนิด แต่จุลินทรีย์ที่โดดเด่นที่สุดจะมีทั้งหมด 7 ชนิดด้วยกัน ได้แก่ Lactobacillus, Bifidobacterium, Saccharomyces, Streptococcus, Enterococcus, Escherichia และ Bacillus 

ทั้งนี้จุลินทรีย์แต่ละชนิดจะมีบทบาทที่แตกต่างกันออกไป เช่น 

  • Lactobacillus มีส่วนช่วยในการย่อย lactose ในกลุ่มคนที่แพ้ lactose และยังสามารถช่วยป้องกันอาการท้องร่วงได้อีกด้วย

  • Bifidobacterium ในปริมาณที่เหมาะสมจะช่วยลดโอกาสการเกิดโรคลำไส้แปรปรวน โรคอ้วน หรือ โรคเบาหวานได้ 

  • Saccharomyces ช่วยบรรเทาอาการท้องร่วง หรืออาการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร

ดังนั้นการรับประทานอาหารที่หลากหลายเพื่อให้ได้รับจุลินทรีย์หลายชนิดในปริมาณที่เหมาะสมจึงสำคัญเช่นกัน

 

Probiotics พบในอาหารประเภทใด

 

สามารถพบ Probiotics ได้ในอาหารหลายประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารหมักดองรูปแบบต่าง ๆ เนื่องจากกระบวนการหมักดองจะทำให้กิดจุลินทรีย์ Probiotics ขึ้น เช่นอาหารดังต่อไปนี้

  • นมเปรี้ยว หรือผลิตภัณฑ์จากนมที่ผ่านการหมักจนเกิดจุลินทรีย์ Probiotics สามารถทานได้ง่าย คล่องคอ มักมีการผสมวัตถุดิบอื่น ๆ อย่างผลไม้ต่าง ๆ เพื่อให้มีรสชาติที่หลากหลาย 

  • โยเกิร์ต หรือผลิตภัณฑ์นมที่ผ่านการหมักมาแล้วเช่นเดียวกันกับนมเปรี้ยว จึงมีจุลินทรีย์ Probiotics เป็นจำนวนมาก

    ชีสบางประเภท เป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์นมที่ผ่านการหมักจนเกิดจุลินทรีย์ Probiotics เช่นกัน โดยมักนิยมรับประทานคู่กับอาหารชนิดอื่น เช่น ขนมปัง หรือ แฮม

  • กิมจิ ผักดองจากประเทศเกาหลี มักมีรสชาติ เปรี้ยว เค็ม หรืออาจเผ็ดบ้างในบางครั้ง นิยมรับประทานเป็นเครื่องเคียงคู่กับมื้ออาหาร

  • ถั่วนัตโตะ ถั่วหมักจากประเทศญี่ปุ่นที่อุดมไปด้วยสารอาหารและ Probiotics ที่มีประโยชน์

  • ซุปมิโซะ มีส่วนผสมของถั่วเหลืองหมักจึงมี Probiotics จำนวนมากและเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย

  • คอมบูชา ชาหมักที่ผสมกับน้ำตาล ยีสต์ และหัวเชื้อจุลินทรีย์ จึงมี Probiotics จำนวนมาก 

นอกจากจะพบตามอาหารเหล่านี้แล้ว ในปัจจุบันก็ยังมีอาหารเสริมสำหรับ Probiotics หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น Probiotics แบบแคปซูล, Probiotics แบบผง, Probiotics แบบน้ำ และอาหารเสริม Probiotics รูปแบบอื่น ๆ ให้คุณสามารถเลือกรับประทานได้ตามความเหมาะสม


รับประทาน Probiotics ตอนไหนจึงจะได้ประโยชน์สูงสุด


ช่วงเวลาที่เหมาะแก่การรับประทาน Probiotics มักเป็นช่วงเวลาที่ท้องว่าง ไม่ว่าจะเป็นก่อนการรับประทานอาหาร หรือช่วงระหว่างวันที่ยังไม่ได้รับประทานมื้ออาหาร เนื่องจาก Probiotics บางชนิดไม่ได้มีความทนทานต่อกรดในกระเพาะอาหารมากนัก จึงอาจถูกทำลายระหว่างทาง ทำให้ไม่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการทาน Probiotics

ดังนั้นไม่ว่าคุณจะรับประทาน Probiotics จากอาหารทั่วไปอย่าง โยเกิร์ต, นมเปรี้ยว หรือรับประทานอาหารเสริม Probiotics รูปแบบต่าง ๆ ก็ควรรับประทานก่อนมื้ออาหารใด ๆ จึงจะดีที่สุด


สรุป


Probiotics คือจุลินทรีย์มีชีวิตที่มีส่วนช่วยปรับสมดุลระบบต่าง ๆ ของร่างกาย ตั้งแต่ระบบทางเดินอาหาร ไปจนถึงระบบภูมิคุ้มกันต่าง ๆ ซึ่งประกอบไปด้วยจุลินทรีย์หลากหลายชนิดที่ทำหน้าที่แตกต่างกันออกไป นอกจากจะช่วยปรับสมดุลให้ร่างกายแล้ว ยังช่วยป้องกันโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร, โรคผื่นแพ้ผิวหนัง, โรคที่เกี่ยวข้องกับไขมันและความอ้วน ตลอดจนโรคที่อาจเกิดบริเวณช่องคลอดของผู้หญิงได้อีกด้วย

การเพิ่มปริมาณ Probiotics เข้าสู่ร่างกายก็ทำได้ไม่ยาก เพียงแค่รับประทานอาหารหมักดองประเภทต่าง ๆ เช่น โยเกิร์ต นมเปรี้ยว กิมจิ นัตโตะ คอมบูชา หรือรับประทานอาหารเสริม Probiotics ที่สามารถหาได้ไม่ยากในปัจจุบัน ซึ่งช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการรับประทาน Probiotics ที่สุดคือเวลาท้องว่าง

สำหรับท่านที่สนใจสาระน่ารู้ดี ๆ แบบนี้ สามารถกดติดตามเพจ Jpogeneเพื่อไม่ให้พลาดทุกบทความสุขภาพและนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะช่วยให้คุณมีสุขภาพแข็งแรงได้ไม่ยาก


Reference:

US Department of Health and Human Services, National Institutes of Health: Office of Dietary Supplements. Probiotics Available from : https://ods.od.nih.gov/factsheets/Probiotics-HealthProfessional


A.A. Amara, A. Shibl, Role of Probiotics in health improvement, infection control and disease treatment and management, Saudi Pharmaceutical Journal, Volume 23, Issue 2, 2015, Pages 107-114, ISSN 1319-0164, https://doi.org/10.1016/j.jsps.2013.07.001.


Justin L Carlson, Jennifer M Erickson, Beate B Lloyd, and Joanne L Slavin. Health Effects and Sources of Prebiotic Dietary Fiber. Available from : https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6041804/pdf/nzy005.pdf


Maria Kechagia, Dimitrios Basoulis, Stavroula Konstantopoulou, et all. Health Benefits of Probiotics: A Review. [Online]. Available from : https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4045285

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้