แบคทีเรียในลำไส้ ส่งผลต่อสุขภาพคุณอย่างไรบ้าง

876 จำนวนผู้เข้าชม  | 

แบคทีเรีย ใน ลำไส้

แบคทีเรียในลำไส้ ประกอบไปด้วยแบคทีเรียหลากหลายชนิด มีทั้งแบคทีเรียในลำไส้ที่เป็นประโยชน์ช่วยให้ร่างกายของคุณแข็งแรงและลดโอกาสเกิดโรคต่าง ๆ ได้ และแบคทีเรียในลำไส้ที่เป็นโทษ ซึ่งเราควรระวังเอาไว้ นอกจากแบคทีเรียในลำไส้จะมีหลายประเภทแล้ว สมดุลของแบคทีเรียในลำไส้ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้คุณสุขภาพดีเช่นกัน

แบคทีเรียดีที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย

แบคทีเรียในลำไส้ที่เป็นแบคทีเรียดีมีประโยชน์ต่อร่างกาย ประกอบไปด้วยแบคทีเรียหลายชนิด เช่น

Lactobacillus

Lactobacillus เป็นแบคทีเรียที่สามารถสร้างกรด lactic ทำให้ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียมีโทษได้ นอกจากสร้างกรด lactic แล้ว แบคทีเรียในลำไส้อย่าง Lactobacilus ยังสร้างวิตามินและกรดอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ได้อีกด้วย

Bifidobacterium

Bifidobacterium เป็นแบคทีเรียในลำไส้ที่มีจุดเด่นคือช่วยย่อยสลายและยับยั้งการดูดซึมคอเลสเตอรอลได้ อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ไปพร้อม ๆ กับการเพิ่มความชื้นแก่อุจจาระจึงทำให้สามารถขับถ่ายได้เป็นปกติ บรรเทาอากาศท้องผูกได้ดี

แบคทีเรียในลำไส้เหล่านี้ หากมีในจำนวนที่พอเหมาะ ก็จะทำให้เรามีสุขภาพดี ระบบต่าง ๆ ในร่างกายรวมไปถึงระบบภูมิคุ้มกันทำงานอย่างเป็นปกติ

แบคทีเรียประจำถิ่นดีต่อร่างกายอย่างไร

แบคทีเรียประจำถิ่น คือแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ในร่างกายมนุษย์ เช่น ช่องปาก ทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร และระบบสืบพันธ์ นั่นคือไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแต่แบคทีเรียในลำไส้เท่านั้น โดยแบคทีเรียประจำถิ่นเหล่านี้ก็จะมีทั้งแบคทีเรียที่ดีต่อร่างกาย และแบคทีเรียที่เป็นโทษต่อร่างกายขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย

โดยทั่วไปแล้วแบคทีเรียประจำถิ่นจะยึดพื้นที่ในร่างกาย เช่นแบคทีเรียในลำไส้ก็จะยึดพื้นที่ส่วนลำไส้ป้องกันไม่ให้แบคทีเรียต่างถิ่นจากภายนอกเข้ามารุกรานได้ง่าย ๆ และยังมีส่วนช่วยในการย่อยอาหารหรือสังเคราะห์สารอาหารต่าง ๆ อีกด้วย

แบคทีเรียมีโทษที่อาจก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ
แบคทีเรียในลำไส้ที่มีโทษอาจทำให้ร่างกายป่วยเป็นโรคต่าง ๆ ได้เช่น แบคทีเรีย E. coli, แบคทีเรีย Salmonella และ Enterobacteriaceae ซึ่งหากเราเผลอรับเอาแบคทีเรียเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายจนมาเจือปนกับแบคทีเรียในลำไส้ตัวอื่น ๆ ก็อาจส่งผลเสียต่อระบบทางเดินอาหารได้ 

โดยแบคทีเรียในลำไส้ที่เป็นอันตรายจะเรียกว่า Pathogenic แบคทีเรียบางตัวอาจทำให้เกิดโรคมะเร็งในกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้ใหญ่ ลำไส้อักเสบเรื้อรัง โรคลำไส้แปรปรวน ตลอดจนโรคทางเดินอาหารโรคอื่น ๆ

ภาวะแบคทีเรียเกินในลำไส้

แบคทีเรียในลำไส้นอกจากจะแบ่งออกเป็นแบคทีเรียประเภทต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อร่างกายแตกต่างกันไปแล้ว ปริมาณของแบคทีเรียในลำไส้เองก็สามารถส่งผลดีหรือร้ายต่อร่างกายได้เช่นเดียวกัน โดยหากเรามีแบคทีเรียในลำไส้ในปริมาณที่สมดุลเราก็จะมีสุขภาพแข็งแรง และระบบทางเดินอาหารทำงานอย่างเป็นปกติ

ในขณะที่หากสมดุลของแบคทีเรียในลำไส้ของเราเปลี่ยนแปลงไปจนเกิดภาวะแบคทีเรียเกินในลำไส้ เนื่องจากแบคทีเรียในลำไส้เกิดการเจริญเติบโตมากผิดปกติ ก็จะเป็นอันตรายต่อร่างกายเราได้

ภาวะแบคทีเรียเกินในลำไส้สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น

- ลำไส้มีความผิดปกติ ซึ่งอาจเกิดจากการผ่านการรักษาทางการแพทย์แล้วมีการผ่าตัดลำไส้บางส่วนออกจนทำให้อาหารเคลื่อนตัวได้ไม่ดีตามปกติจนแบคทีเรียในลำไส้มีปริมาณมากเกินไป
- การที่ลำไส้เคลื่อนไหวผิดปกติไปอย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งอาจเกิดจากโรคอื่น ๆ หรือยาบางชนิด
- การที่กระเพาะอาหารมีปริมาณกรดน้อยเกินไป ซึ่งอาจเกิดจากโรคอื่น ๆ หรือผลกระทบจากการรักษาทางการแพทย์บางประเภท
- เกิดขึ้นเองในผู้ที่มีสุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง หรือระบบในร่างกายทำงานได้ไม่เป็นปกติ อย่างในผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ

เมื่อแบคทีเรียในลำไส้ไม่สมดุล อาจส่งผลให้เรามีอาการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการปวดท้อง ท้องอืด คลื่นไส้ ในบางรายที่ภาวะแบคทีเรียเกินมีอาการรุนแรงอาจส่งผลให้ท้องเสียเรื้อรังและน้ำหนักลดผิดปกติได้

โดยการวินิจฉัยภาวะแบคทีเรียเกินจะต้องให้แพทย์เป็นผู้เลือกวิธีวินิจฉัยที่เหมาะสม และทำการรักษาด้วยวิธีการหลายรูปแบบ เช่น การให้ยาปฏิชีวนะ การเฝ้าระวังอาการอย่างใกล้ชิด การปรับการรับประทานอาหาร  ดังนั้นเราจึงควรรักษาสมดุลแบคทีเรียในลำไส้ให้ดีอยู่เสมอเท่าที่เราจะสามารถทำได้ 

การรักษาสมดุลแบคทีเรียในลำไส้

การรักษาสมดุลแบคทีเรียในลำไส้มีข้อควรพิจารณาอยู่ 2 อย่างคือ 

1. ไม่ให้มีปริมาณแบคทีเรียในลำไส้น้อยจนเกินไป
2. ไม่ให้มีปริมาณแบคทีเรียในลำไส้มากจนเกินไป

โดยเราสามารถเพิ่มปริมาณแบคทีเรียในลำไส้ที่เป็นแบคทีเรียดีได้ไม่ยากโดยการเพิ่ม probiotics เข้าไปนั่นเอง การเพิ่ม probiotics เพื่อให้ร่างกายมีแบคทีเรียดีเพิ่มขึ้นสามารถทำได้โดยการรับประทานอาหารหมักต่าง ๆ เช่น โยเกิร์ต ชีส กิมจิ เป็นต้น รวมไปถึงการรับประทานอาหารที่มี prebiotics ซึ่ง prebiotics จะเข้าไปเป็นอาหารให้ probiotics เจริญเติบโตได้ดีขึ้นอีกด้วย

นอกจากการรับประทานอาหารที่มีแบคทีเรียดีเข้าไปแล้ว การนอนหลับพักผ่อนเพียงพอและการออกกำลังกายก็ยังช่วยให้สภาพแวดล้อมในลำไส้ของเราอยู่ในสภาวะที่ดี เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของแบคทีเรียดีในลำไส้อีกด้วย

ในกรณีที่เรามีความกังวลว่าแบคทีเรียในลำไส้เรามีปริมาณที่สมดุลพอหรือยัง ก็สามารถตรวจสมดุลจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหาร หรือก็คือการตรวจ Gut Microbiome ได้อีกด้วย เพื่อให้ทราบว่าแบคทีเรียในลำไส้ของเรามีสภาวะเป็นอย่างไรบ้าง โดยจะใช้การเก็บตัวอย่างอุจจาระมาผ่านการตรวจอุจจาระต่อไป

ส่วนการป้องกันไม่ให้มีแบคทีเรียในลำไส้มากเกินไป นอกจากการตรวจสมดุลผ่านการตรวจ Gut Microbiome แล้ว การคอยสังเกตตัวเองบ่อย ๆ ก็จะช่วยให้เรารับรู้โรคต่าง ๆ ได้อย่างทันท่วงทีและแก้ไขได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ นั่นเอง

สรุป

แบคทีเรียในลำไส้มีหลายประเภท มีทั้งแบคทีเรียในลำไส้ที่ดีมีประโยชน์ต่อร่างกาย แบคทีเรียในลำไส้ที่เรามีอยู่ในร่างกายอยู่แล้ว และแบคทีเรียในลำไส้ที่เป็นโทษต่อร่างกาย ซึ่งนอกจากประเภทของแบคทีเรียจะส่งผลต่อผลลัพธ์ที่เกิดต่อร่างกายเราแล้ว จำนวนของแบคทีเรียก็มีผลด้วยเช่นกัน

การมีแบคทีเรียในลำไส้ที่สมดุลจะช่วยให้เรามีร่างกายแข็งแรง ในขณะที่การขาดแบคทีเรียหรือมีภาวะแบคทีเรียเกินในลำไส้อาจส่งผลให้เราเป็นโรคต่าง ๆ ได้ 

ดังนั้นเราจึงควรดูแลสมดุลแบคทีเรียในลำไส้ของตนเองให้ดี ด้วยการเติมแบคทีเรียดีและอาหารของแบคทีเรียดีเข้าไปในลำไส้ผ่านอาหารการกิน ออกกำลังและนอนหลับเพียงพอ เพียงเท่านี้คุณก็จะสามารถรักษาสมดุลแบคทีเรียในลำไส้และมีร่างกายที่แข็งแรงได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้